Chapter 1: การคิดระยะยาวกับการคิดระยะสั้น
หลายๆครั้งที่ตัวเองพรีเซ้นต์งานจะโดนเจ้านายดุบ่อยๆว่าเวลาคิดงานหรือวางกลยุทธ์ให้มองไกลๆ อย่าคิดแค่แก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า เอ…แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าเรากำลังคิดแบบระยะยาวหรือคิดแบบระยะสั้นนะ. 🧐
ยิ่งเราคิดอย่างมีคุณภาพมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ส่วนการวัดคุณภาพของความคิด เราวัดกันง่ายๆที่ผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆของตัวเราเอง
ความฉลาดคืออะไร คำตอบนั้นเเสนเรียบง่ายมากก…เพราะการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เราเข้าใกล้สิ่งที่ต้องการมากขึ้น เราเรียกสิ่งนี้ว่าการกระทำที่ฉลาด ส่วนการกระทำโง่ๆคือการทำสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใกล้สิ่งที่ต้องการหรือทำให้ยิ่งห่างออกไปจากมันด้วยซ้ำ ถึงตรงนี้แล้วก้อเริ่มตัดสินได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำต่อและอะไรคือสิ่งที่เราต้องหยุดทำ
เรามักได้ยินบ่อยๆว่า ถ้าคุณฝันแต่ไม่ลงมือทำก็เท่านั้น…เพราะการกระทำคือทุกสิ่ง เราจะบอกได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่คนคนหนึ่งต้องการ คิด รู้สึก เชื่อและมุ่งมั่น ง่ายมากค่ะ ดูที่การกระทำของเขา ความตั้งใจหรือความคาดหวังไม่สำคัญเท่า พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอสิ่งที่ล่อใจหรือภายใต้ภาวะกดดัน
คนที่ประสบความสำเร็จมักสอนให้เรา วางแผนอนาคตในอีกห้าปีข้างหน้าและลงมือทำทันที หลายครั้งก่อนเราจะลงมือเดินตามฝัน เรามักมีความกังวลว่ากระบวนการขั้นตอนเพื่อไปสู่เป้าหมายมีอะไรบ้าง..และจบลงที่ท้อก่อนจะเริ่มลงมือทำและไปไม่ถึงเป้าหมาย. ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่จำเป็นต้องรู้ลำดับขั้นตอนทั้งหมด แค่ลงมือทำในขั้นตอนแรก จากนั้นเราจะรู้เองว่าสิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนที่สองคืออะไร พูดง่ายๆคือเราจะรู้เสมอว่าสิ่งที่ต้องทำขั้นตอนต่อไปคืออะไร ก้าวแรกคือก้าวที่ยากที่สุดแต่เมื่อเริ่มก้าวแรกแล้ว ก้าวที่สองก็จะง่ายขึ้นนน
คนเรามีการคิดสองรูปแบบ 1. การคิดแบบรวดเร็ว และ 2. การคิดอย่างช้าๆสำหรับการคิดเร็วเป็นการประมวลข้อมูลของเราอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ รวมถึงอาศัยความรู้สึกและสัญชาตญาณในการวิเคราะห์และตัดสินใจ เหมาะกับกิจกรรมเช่นการพูด การประชุม การใช้ชีวิตประจำวันเช่นซื้อของ แต่หากต้องตัดสินใจในเรื่องที่มีผลระยะยาวให้ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ปรารถนา การคิดอย่างช้าๆก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เช่นการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพ การแต่งงาน การออมเงินและการลงทุน ยิ่งเรื่องที่ต้องตัดสินใจมีความสำคัญต่อเราในระยะยาวมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องคิดให้ช้าลง ให้เวลากับตัวเองค่อยๆคิด พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและทางเลือกที่มีอยู่อย่างถี่ถ้วน
หมั่นวิเคราะห์วิธีคิดของตัวเอง โดยการถามตัวเองว่าในสถานการณ์แบบนี้ เราควรคิดเร็วหรือคิดอย่างช้าๆ ลองทำตามกฎ 72 ชม. โดยให้เวลาตัวเอง72 ชม. หรือสามวันเพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญเเล้วค่อยตัดสินใจ สำหรับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจ เราก็ไม่ต้องตัดสินใจ ยิ่งเราใช้เวลาคิดก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเท่านั้น