Patticia L.
2 min readDec 7, 2020

ตอนที่ 2 Product Development Life Cycle ล้วงลึกขั้นตอนการทำงานกว่าจะตกผนึกฟีตเจอร์ปล่อยสู่ตลาด

เคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่า กว่าที่ฟีตเจอร์หนึ่งๆหรือสินค้าหนึ่งชิ้นปล่อยสู่มือผู้ใช้งาน มีขั้นตอนการทำงานและกระบวนความคิดยังไง?

ก่อนที่เราจะลงลึกให้เข้าใจถึงกระบวนการและขั้นตอนของการทำงานของการพัฒนาสินค้าหรือฟีตเจอร์หนึ่งๆ อยากให้เพื่อนๆที่สนใจสายงาน Product Manager เข้าใจภาพใหญ่กันก่อน วิธีการทำงานแยกใหญ่ๆได้ 2แบบ แบบแรกคือ Waterfall approach คำนี้น่าจะได้เคยได้ยินกันบ้างหากใครทำงานในสาย development คือวิธีการเน้นปล่อยสินค้าสู่ตลาดเมื่อสินค้ามีฟังก์ชันที่ครบสมบูรณ์ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาร่วมปีหรือมากกว่านั้น วิธีการนี้จะพบบ่อยในองค์กรใหญ่ๆหรือสินค้ากลุ่ม Hardware และอีกวิธีทำงานแบบหนึ่งเราเรียกว่า Lean approach วิธีการนี้เน้นความเร็ว โดยซอยฟังก์ชันต์เป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ระยะพัฒนาสั้นๆ และทยอยปล่อยฟังก์ชันสู่ผู้ใช้งานเรื่อยๆ วิธีการนี้จะเป็นที่นิยมในกลุ่มบริษัท start up หรือ สินค้ากลุ่ม Software ยกตัวอย่างบริษัทที่ผู้เขียนทำงานเป็นสินค้ากลุ่ม Software จึงเน้นพัฒนาและปล่อยฟีตเจอร์ให้เร็วและทยอยปล่อยฟังก์ชันใหม่เรื่อยๆ โดยเฉลี่ยจะปล่อยฟีตเจอร์ใหม่ๆ ทุกๆ 2 อาทิตย์หรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายของฟีตเจอร์ ซึ่งข้อดีของการพัฒนาสินค้าแบบ Lean approach คือ มีความเสี่ยงน้อยกว่าแบบ Waterfall เนื่องจากสามารถเปลี่ยนแผนได้ทันถ่วงทีหากพบว่าสิ่งที่พัฒนาไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ในขณะที่แบบ Waterfall approach กว่าจะรู้ผลลัพธ์ก็ช้าเกินกว่าที่จะแก้ไขได้เนื่องจากสินค้าปล่อยสู่ตลาดในสเปคที่สมบูรณ์แบบแล้ว แต่ไม่ว่าสินค้าจะเป็น Hardware หรือ Software หลักการและขั้นตอนในการสร้างไม่ต่างกัน การพัฒนาสินค้าทุกๆชิ้นจะต้องผ่าน 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ค้นหาโอกาสที่ใช่และวางแผนทำมันซะ
  2. ออกแบบฟีตเจอร์/สินค้า
  3. ลงมือพัฒนาฟีตเจอร์/สินค้า
  4. ปล่อยฟีตเจอร์/สินค้าสู่ตลาด
  5. ประเมินและวัดผลผลตอบรับจากตลาด

เริ่มจากขั้นตอนแรก ค้นหาโอกาสที่ใช่และวางแผนลงมือทำซะ พูดง่ายๆคือค้นหาความต้องการหรือปัญหาที่พบในตลาดที่เราสามารถนำไปพัฒนาสินค้าต่อได้ ฟังดูเหมือนง่ายแต่ในชีวิตจริง บอกเลยข้อนี้ยากสุดๆ ซึ่งการค้นหาคำตอบที่ใช่นั้นต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายของบริษัทคืออะไร หากเราเข้าใจเป้าหมายของบริษัทจะช่วยให้เรา narrow down และจัดลำดับความสำคัญของความต้องการนั้นๆได้ชัดเจนขึ้น โดยส่วนใหญ่เเล้ว บริษัทโฟกัสอยู่ 3เรื่องใหญ่ๆ 1. growth (ความเติบโต เช่น ยอดผู้ใช้งาน) 2. Revenue (รายได้) และสุดท้ายคือ customer sastisfaction (ความพึงพอใจของลูกค้า) ข้อควรระวังคือห้ามเอาเป้าหมายหลายๆข้อมาผสมกันเช่น สนใจทั้งการเติบโตและความพึงพอใจของลูกค้า เพราะจะทำให้เราหลงทางและไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องพัฒนา ทุกอย่างจะดูสำคัญไปหมด นอกจากนี้เรายังต้องเข้าใจ ลูกค้าหลักคือใคร พูดง่ายๆคือคนที่ใช้งานสินค้าเราถี่ที่สุด เรากำลังพัฒนาสินค้าเพื่อลูกค้ากลุ่มไหน ปัญหาของเค้าคืออะไร หากสินค้าปล่อยสู่ตลาดไปแล้ว เราสามารถหาคำตอบโดยการลองคุยกับลูกค้าปัจจุบัน วิเคราะห์ต้นตอของปัญหา หรือหากไม่มีให้ดูว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการเพิ่มเติม หรือสังเกตการใช้งานของลูกค้าปัจจุบัน เพื่อหาโอกาสที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ จากนั้นลองออกแบบแนวทางแก้ไขนั้นๆ และทดสอบแนวทางนั้นกับลูกค้าปัจจุบันเพื่อตรวจสอบว่าใช่แนวทางแก้ไขที่ลูกค้าต้องการหรือช่วยแก้ไขปัญหาที่เจออยู่หรือไม่ ผ่านการทำ prototype หรือการสัมภาษณ์ ยกตัวอย่างเคสของ CNN.com ที่มีการวัดผล จาก headlines ว่านำเสนอรูปแบบไหนผู้ชมชอบมากกว่ากัน ระหว่างเห็น VDO headline แล้วคลิกเปิดดูวิดีโอข่าว มีกี่คนที่คลิกดูและมีกี่คนที่ดูจนจบ และ Article headline มีกี่คนที่เปิดอ่านบทความข่าว มีกี่คนที่อ่านถึงช่วงของโฆษณา นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบว่าข่าวแบบวิดีโอหรือบทความที่สามารถทำให้คนยอมเปิดดูจนเห็นโฆษณา หาผลลัพธ์คือคนดูวิดีโอข่าวจนจบมากกว่าอ่านบทความข่าวจนจบ ดังนั้นข้อมูลที่ได้ สำนักข่าวควรให้ความสำคัญข่าวรูปแบบวิดีโอมากกว่าแบบบทความ

เมื่อได้ไอเดียแล้ว เราจึงนำไอเดียนี้เข้าสู่แผนพัฒนา ซึ่งสำคัญของขั้นตอนนี้คือการกำหนด scope ของฟีตเจอร์ที่ต้องการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น สร้างปากกา เราต้องกำหนดด้วยว่าปากกาที่เราสร้างสามารถใช้งานได้ในสิ่งแวดล้อมหรือโอกาสไหนบ้าง เช่น ใต้น้ำ บนกระดาษ เขียนแล้วอักษรกลับหัวได้ การกำหนด scope แบบนี้จะช่วยให้เราสามารถซอยแผนพัฒนาฟีตเจอร์นั้นๆเป็นฟังก์ชันต์เล็กๆ โดยเลือกพัฒนาฟังก์ชันต์ที่สำคัญที่สุดและยังตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มผู้ใช้งานหลักของเรา เราจะเรียกฟีตเจอร์ที่แบ่งซอยเล็กๆนี้ว่า ช่วงของ MVP (minimum viable product) เมื่อเราสามารถวางแผนพัฒนาสินค้าเป็น phase ได้แล้ว จากนนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบฟีตเจอร์นั้น หากเป็นฟีตเจอร์ที่มีความซับซ้อน เราอาจจะนำตัวอย่างไปทดสอบกับลูกค้าหลักเรา ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตของจริง ทั้งนี้เพื่อลดความผิดพลาดในการออกแบบฟีตเจอร์ที่ไม่ตอบโจทย์หรือใช้งานยากเกินไป เมื่อเราได้แบบดีไซค์ที่ดีที่สุดแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการเขียนโค้ดของทีม developers และตรวจสอบจาก QA ก่อนจะปล่อยฟีตเจอร์นั้นสู่ตลาด

หลังจากที่ฟีตเจอร์ได้ปล่อยสู่ตลาดแล้ว สิ่งสำคัญคือการทำ marketing ทำอย่างไรให้ข้อมูลไปถึงผู้ใช้งานหลัก จำเป็นต้องการสื่อสารและโปรโมทไปอย่างเข้าถึงและเข้าใจ การโปรโมทฟีตเจอร์ไม่ใช่การร่างรายการฟังก์ชันต์ของสิ่งที่เราพัฒนาไป หากแต่เป็นการเล่าว่าฟีตเจอร์ที่ปล่อยไปจะช่วยแก้ปัญหาอะไรให้กับลูกค้าบ้าง ข้อความที่สื่อสารออกไปต้องชัด ชัดในเชิงแก้ไขปัญหาอะไร และเข้าใจง่าย ฟังแล้วต้องไม่สับสนหรือตีความผิด ไม่งั้นจบกันเลยค่า 😅

ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่เราปล่อยฟีตเจอร์/สินค้าสู่ตลาดสักพักแล้ว ควรประเมินผลเพื่อวัดผลว่าฟีตเจอร์/สินค้าที่พัฒนาตอบโจทย์ผู้ใช้งาน มากน้อยอย่างไร มีจำนวนผู้ใช้งานหรือเป็นไปตามดัชนีชี้วัดอื่นที่ได้ระบุไว้ ซึ่งนำไปสู่สัญญาณของการบรรลุเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน ค่าวัดผลและ feedback ที่ได้จะช่วยให้ Product Manager สามารถสรุปเป็นข้อแนะนำสำหรับนำไปปรับปรุงหรือต่อยอดในกระบวนการ Product Development Life Cycle ครั้งต่อไป

และนี่คือขั้นตอนการทำงาน กว่าที่ลูกค้าจะได้เห็นสินค้าหรือฟีตเจอร์ใหม่ๆ ในฐานะคนทำงานในตำแหน่งนี้ อยากบอกว่าคนในทีมมีผลมากในการขับเคลื่อนสินค้าที่พัฒนา หากทีมมีเป้าหมายที่เห็นร่วมกัน บวกกับมีพลังในการทำงานพอๆกัน บรรยากาศในการทำงานจะสนุกมาก มีความสุขทุกครั้งที่ตัวเลขผู้ใช้งานมากขึ้นและถึงแม้ตัวเลขจะไม่ได้ตามเป้า ทีมทำงานก็ยังคงพร้อมใจกันช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหา เป็นบรรยากาศการทำงานที่ครื้นเครงตลอดปี 🤣

สุดท้ายนี้หากใครอยากรู้จักสายอาชีพ Product Manager คือใคร ทำอะไร สามารถอ่านที่ลิ้งนี้นะจ้ะ https://medium.com/@patticia/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1-product-manager-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-a16b2212ac4c

Patticia L.
Patticia L.

Written by Patticia L.

Product Owner, Curiosity in business analytic and user behavior

No responses yet